Introduction
วันนี้ขอเขียนอะไรยาวๆ สักหน่อย
ในงาน Google I/O 2018 ที่ได้จัดไปเมื่อคืนตามเวลาในบ้านเรา มีการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งของกูเกิลที่ส่วนตัวแล้วผมมองว่าฉลาดอยู่นะ
การเคลื่อนไหวที่ว่ามาในรูปแบบเซตของฟิเจอร์ในแอนดรอยด์ P ที่เรียกว่า Digital Wellbeing
Digital Wellbeing ประกอบด้วย
1) เข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้ => 2) โฟกัสกับสิ่งที่สำคัญ
สำหรับส่วนนี้ระบบแอนดรอด์จะเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ เช่น เราเสียเวลาเล่นแอพอะไรมากสุด ในหนึ่งวันคุณปลดล็อกมือถือกี่ครั้ง หรือเแม้แต่จำนวนของ Notification ที่ได้รับในแต่ละวัน แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาสรุปรวมให้เราดูกัน เพื่อช่วยให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าวันๆ เราเสียเวลาไปกับมือถือของเรามากขนาดไหน
ซึ่งมันจะนำไปสู่การทำให้เราโฟกัสกับสิ่งที่สำคัญได้มากขึ้นนั่นเอง
3) ปิดเมื่อจำเป็น => 4) หาสมดุลย์ระหว่างคุณกับครอบครัว
อันนี้เป็นการต่อยอดจากสองฟิเจอร์ด้านบนนะครับ เมื่อเรารู้ว่าเราเสียเวลาไปกับอะไรและเราต้องการจะโฟกัสกับสิ่งที่สำคัญ กูเกิลก็เลยจัดความสามารถใหม่ๆ ให้กับแอนดรอยด์เพื่อช่วยให้เราโฟกัสได้ดีขึ้น
เริ่มตั้งแต่การเปิดโหมดห้ามรบกวนง่ายๆ ด้วยการคว่ำหน้าจอลงซึ่งกูเกิลเรียกว่า "Shush" ไปจนถึงการเปลี่ยนหน้าจอให้แสดงผลเป็นขาวดำเมื่อถึงเวลานอนตามที่เราเซ็ตไว้ ซึ่งกูเกิลเรียกว่า "Wind Down"

เอาหละถึงเวลามาวิเคราะห์กันหน่อยว่าทำไม่กูเกิลถึงผลักดันฟิเจอร์นี้
จะเห็นได้ว่าแนวทางนี้มันให้ความรู้สึกสวนทางกับของบริษัทอื่นๆ ที่พยายามดึงให้คนอยู่ในระบบของตนเองให้นานที่สุด แต่กูเกิลกลับช่วยให้เราเสียเวลากับอะไรเหล่านี้น้อยลงแล้วไปโฟกัสกับสิ่งอื่นๆแทน ซึ่งดูเผินๆ เหมือนเป็นการไล่คนออกไปจากบริการของตนเองยังไงยังงั่น
ตรงนี้ผมมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวของกูเกิลที่หวังผลในระยะยาวนะครับ
มือถือเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนมากๆ โดยเฉพาะในช่วงสามสีปีนี้ เราใช้มือถือทำอะไรหลายๆ อย่างได้มากขึ้น ชนิดที่ว่าถ้าขาดมันไปชีวิตต้องลำบากแน่ๆ เรียกได้ว่าเปรียบเสมือนประตูช่วยให้เราเชื่อมต่อกับสิ่งที่เราต้องการ (ประตูไปไหนก็ได้)
ความสำคัญของมือถือต่อชีวิตมนุษย์ในยุคนี้เห็นได้ชัดเลยจากการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในวงการสมาร์ทโฟนในช่วงปีหลังๆ มานี้ ถ้าเปรียบเป็นสนามรบก็คงเป็นสนาบรบแบบที่แต่ละฝ่ายต่างเผชิญหน้ากันแต่ไม่มีฝ่ายใดรุกคืบไปไหนได้ (สนามเพลาะแบบสงครามโลกครั้งที่ 1)
กูเกิลกับแอปเปิลยันกันมานานมากแม้ว่าดูจากส่วนแบ่งตลาดมือถือแล้วกูเกิลจะได้เปรียบแต่ฐากผู้ใช้ของแอปเปิลก็แข็งแกร่งมากเพราะความสมบูรณ์ของ ecosystem
ผมมองว่ากูเกิลพยายามมองภาพรวมของสงครามแล้วหาทางยุติการเผชิญหน้ากันในสนามรบแบบนี้ด้วยการ.....เปิดสนามรบใหม่ครับ นั่นก็คือสนามรบที่มีชือว่า AI
ถ้ากูเกิลชนะในสงคราม AI ย่อมจะส่งผลให้สถานะการในสนามรบอื่นๆ ดีไปด้วย และกูเกิลจะกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบในสนามรบมือถือที่ยืดเยื้อมานาน
แล้วกูเกิลต้องทำอย่างไรให้ชนะในสงคราม AI หละ ?
First Move
กูเกิลเริ่มมูฟแรกด้วยการทำให้ AI ของตัวเองฉลาดกว่าคู่แข่งด้วยข้อมูลมหาศาลที่ตัวเองมีอยู่ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของกูเกิลมากๆ
Second Move
มูฟที่สองกูเกิลพยายามทำให้ AI ของตัวเองเรียกใช้ได้ง่ายขึ้นและอยู่ในทุกๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นในมือถือแอนดรอยด์ หรือในอุปกรณ์สมาร์ทโฮมหลากหลายระดับราคาที่กูเกิลขายเพื่อให้เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม
Third Move
และมูฟที่สามก็เริ่มในงาน Google I/O เมื่อคืนนี้เอง เริ่มด้วยการพัฒนา AI ตัวเองให้ฉลาดกว่าเจ้าอื่นแบบทิ้งห่าง พร้อมกันนั้นก็พยายามพลักดันให้คนหันมาใช้ AI ของตัวเองมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้คุ้นเคยกับ AI ของกูเกิลและเห็นประโยชน์ของมันมากขึ้นไปอีก
Digital Wellbeing เป็นส่วนหนึ่งของมูฟที่สามนี่เองครับ เป็นการทำให้คนคุ้นเคยกับ AI ของกูเกิลด้วยการพลักดันให้คนสั่งงาน AI จากช่องทางอื่นๆ ให้มากขึ้นนอกจากมือถือ ทำให้คนเห็นประโยชน์ของ AI แยกกันกับมือถือแบบเด็ดขาดส่งผลให้เกิดความรู้สึกกับผู้ใช้ว่า "หัวใจของกูเกิลจริงๆ แล้วคือ AI" ไม่ใช่มือถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่กูเกิลพยายามจะสื่อสารให้ผู้ใช้เข้าใจมาสองสามปีแล้ว
เมื่อคนเห็นประโยชน์ใน AI ของกูเกิล มันจะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้ออุปกรณ์ของเขาในอนาคต ทำให้กูเกิลได้เปรียบในสนามรบมือถือที่ยืดเยื้อมานาน
และเมื่อผู้ใช้คุ้นเคยกับ AI มากขึ้น ใช้งานมันทุกวันราวกับเป็นผู้ช่วยประจำตัว ผู้ใช้จะขาดมันไม่ได้แล้วใครได้ประโยชน์หละ ?
แน่นอน ก็กูเกิลไง
โลกเราใกล้ปี 2029 เข้าไปทุกทีแล้ว